messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ camera_alt ภาพกิจกรรม call ข้อมูลการติดต่อ
ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
info ประเพณีตำบลท่าค้อ
บุญประเพณี ฮีตครอง ตำบลท่าค้อ
ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีที่ประชาชนนำมาปฏิบัติประจำเดือน ทั้ง ๑๒ เดือนในรอบปีเป็นประเพณีการทำบุญประจำเดือนที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา การนับเดือนเป็นแบบจันทรคติ คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า เดือนหก เดือนเจ็ด เดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ เดือนสิบเอ็ด และเดือนสิบสอง ตามปกติเดือนอ้ายซึ่งเป็นเดือนแรกของปีจะเริ่มประมาณปลายเดือนธันวาคม ชาวท่าค้อถือว่าการประกอบพิธีกรรมตามฮีตสิบสองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าพิธีกรรม ดังกล่าวเกี่ยวเนื่องทั้งพุทธศาสนาและภูตผีวิญญาณ พิธีกรรมตามฮีตครองที่ชาวท่าค้อปฏิบัติและสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน และยังดำเนินการอยู่มีดังนี้ 1. เดือนสี่ บุญผะเหวด 2. เดือนห้า บุญสงกรานต์ 3. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา 4. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน 5. เดือนสิบ บุญข้าวสาก 6. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา 7. เดือนสิบสอง บุญกฐิน และงานลอยกระทง เดือนสี่ บุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ การทำบุญผะเหวดเป็นการประสานความร่วมมือกับหมู่บ้านจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานด้วย กิจกรรมหลักของบุญผะเหวด คือ การนิมนต์พระอุปคุตมาประดิษฐานที่หอพระอุปคุตในตอนเช้า ตอนบ่ายมีพิธีอัญเชิญแห่พระเวสสันดร และพระนางมัทรีเข้าวัด ช่วงค่ำพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ กลางคืนเทศน์เรื่อง พระมาลัยหมื่นพระมาลัยแสน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระมาลัยไปเยี่ยมนรก ต่อจากนั้นจึงเทศน์สังกาศ วันที่สองจะมีเทศน์มหาชาติตลอดวัน เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาว่าการเทศน์มหาชาตินั้นจะต้องเทศน์ให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ภายในวันเดียว จึงจะได้อานิสงส์มาก บางท้องถิ่นจะมีการแห่ข้าวพันก้อน ก่อนฟังเทศน์มหาชาติ ในวันที่สอง ซึ่งจะ มีการทำพิธีแห่ข้าวพันก้อน ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. โดยชาวบ้านจะมีผู้นำทำพิธีแต่งชุดขาว แห่ข้าวไปตามซุ้มธงทิว จำนวน ๘ ทิศ รอบโบสถ์ โดยเดินเวียนทั้งหมด ๓ รอบ เดือนห้า บุญสงกรานต์ เป็นทำบุญเฉลิมฉลองปีใหม่ตามคติโบราณ ซึ่งจัดให้มีพร้อมกันทั่วประเทศ โดยทำบุญสงกรานต์ในวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน กิจกรรมหลักของบุญสงกรานต์ คือการสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด สรงน้ำคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวเล่นสาดน้ำกัน (หรือนิยมเรียกว่า "ไปเนา”) ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย บูชาพระเจดีย์ทราย และแห่ข้าวพันก้อน ในเมืองจะทำบุญสงกรานต์เพียง ๓ วัน คือวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ส่วนในชนบทจะสรงน้ำพระพุทธรูปต่อไปอีกจนถึงวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเสร็จสิ้นพิธีสงกรานต์ และก่อนที่พิธีสงกรานต์จะสิ้นลง ชาวบ้านจะทำพิธีแห่ดอกไม้รอบบ้าน ก่อพระเจดีย์ทรายไว้ตามทางสามแพร่งรอบหมู่บ้าน ไปรวมกัน เรียกว่า ค้ำโพธิ์ค้ำไฮ และ ปักธงเฉลียงไว้ตามกองทราย เดือนแปด บุญเข้าพรรษา ซึ่งเป็นพิธีที่ให้พระภิกษุ และสามเณรอยู่ประจำที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน คือเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำบุญเข้าพรรษาถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาโดยชาวบ้านจะถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล พร้อมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นตลอดทั้ง ๓ เดือน แด่พระสงฆ์ ได้แก่ ไตรจีวร ยารักษาโรค เทียน ตะเกียง น้ำมัน นอกจากนั้นยังมีการถวายต้นเทียน บางท้องที่นำขี้ผึ้งมาหล่อเป็น ต้นเทียนขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งลวดลายที่สวยงาม แล้วแห่ไปถวายพระ ที่วัด อาจจะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนหรือปัจจัยด้วย หลังจากนั้นพระสงฆ์จะเทศนา ๑ กัณฑ์ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้จัดประเพณี ไหว้พระ ๙ วัด เสริมอำนาจบารมีที่อำนาจเจริญ เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติมิตร ที่ล่วงลับไปแล้ว ข้าวประดับดิน คือ ข้าวและอาหารหวานคาว หมากพลู และบุหรี่ ชาวบ้านจะนำสิ่งของดังกล่าวใส่กระทงแล้วนำไปวางตามที่ต่างๆ ในเขต ลานวัด เช่น ตามรั้ว ต้นไม้ หรือตามพื้นดิน การทำบุญข้าวประดับดินจะจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ โดยชาวบ้านจะลุกขึ้นแต่เช้ามืดประมาณ ๓ – ๕ นาฬิกา แล้วนำกระทงข้าวประดับดินไปวางไว้ตามที่เห็นว่าสมควร เมื่อวางกระทงเสร็จแล้วจะจุดธูปเทียนบอกกล่าวให้เปรตหรือผู้ล่างลับไปแล้วมารับส่วนบุญ การนำกระทงไปวางที่ต่างๆต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่งเช้า เพราะเชื่อว่าเปรตจะท่องเที่ยวเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น เมื่อถึงเวลารุ่งเช้าก็จะทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์สมาทานศีล ฟังเทศน์ และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ เดือนสิบ บุญข้าวสาก ข้าวสาก คือ สลากภัต เป็นการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์โดยวิธี จับสลาก เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ซึ่งเคยเป็นญาติผู้รักใคร่นับถือ โดยจะจัดงานขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ตอนเช้ามืดของวันงานชาวบ้านจะเตรียมอาหารที่จะทำเป็นสลากภัตแล้วนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระและสามเณร พอใกล้เวลาเพลจึงนำอาหารที่เตรียมไว้สำหรับทำเป็นสลากภัตไปวัด ชาวบ้านจะนำสลากที่มีชื่อพระสงฆ์และสามเณร ไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น นำข้าวสลากภัตไปวางไว้ตามบริเวณวัด แล้วจุดธูปเทียนบอกกล่าวให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับอาหาร และผลบุญที่อุทิศไปให้ มีการฟังเทศน์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยงผีตาแฮก ณ ที่นาของตน เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา ชาวบ้านจะจัดงานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้ามีการตักบาตรหรือตักบาตรเทโว ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสามเณร บางท้องที่มีการกวนข้าวทิพย์ถวายเป็นพิเศษ มีการรับศีล ฟังเทศน์ ตอนค่ำมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน ในชนบทจะเอารวงข้าวที่เพิ่งผลิ เรียกว่า "ข้าวน้ำนม” ทำเป็นดอกไม้บูชา กลางคืน มีมหรสพ ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เช่น อำเภอชานุมาน จะจัดให้มีการแข่งเรือ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า การส่วงเฮือ นอกจากนี้ประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนิยมมาร่วมแข่งเรือในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เดือนสิบสอง บุญกฐิน การทำบุญกฐิน คือการถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ที่ผ่านการจำพรรษาแล้ว มีระยะเวลากฐิน หรือกรานกฐิน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในการทำบุญกฐินนั้นเจ้าภาพจะต้องจองวัด และกำหนดวัดทอดกฐินไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเวลาเข้าพรรษา พร้อมทั้งเตรียมผ้าไตรจีวร อัฐบริขารอื่นๆ และเครื่องไทยทาน เจ้าภาพจะแจ้งข่าวการทำบุญกฐินให้ญาติมิตรทราบ กลางคืนก่อนวันทอดกฐินจะมีมหรสพฉลององค์กฐินอย่างสนุกสนาน วันรุ่งขึ้นก็แห่องค์กฐินไปวัด แห่เวียนประทักษิณหรือเวียนขวารอบโบสถ์ สามรอบ แล้วจึงทำพิธีถวายผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารแด่พระสงฆ์

× องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ