messager
check_circle ประวัติตำบลท่าค้อ
ประวัติตำบลท่อค้อ
ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เดิมชื่อ “เมืองมรุกขนคร” อยู่ในเขตการปกครองของเมืองเวียงจันทน์ และกรุงเทพมหานครในคราวเดียวกันในสมัยนั้น ประวัติของตำบลท่าค้อ มีอยู่ว่า ปฐมบท ในอดีตก่อนที่จะมาเป็นเมือง “มรุกขนคร” นั้นมีชื่อว่า “เมืองศรีโคตรบูรณ์” เจ้าเมืองชื่อพระบรมราชา (เอวก่าน) มีบุตรชายชื่อว่า ท้าวกู่แก้ว บุตรหญิงชื่อ นางสุวรรณทอง และบุตรเขยชื่อ นายคำสิงห์ (บุตรเพี้ยรามแขก)” ขณะที่ท้าวกู่แก้วมีอายุได้ ๑๕ ปี พระบรมราชาผู้เป็นบิดาส่งไปถวายเป็นมหาดเล็กที่เมืองจำปาศักดิ์ เวลาผ่านไป ๒ ปี พระบรมราชา (เอวก่าน) เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรม ทางเวียงจันทน์จึงได้ตั้งนายคำสิงห์ บุตรเขยเป็นพระบรมราชาครองเมืองแทน ครั้นข่าวล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้วว่า ว่าบิดาถึงแก่กรรม และพี่เขยได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแทน จึงเกิดความไม่พอใจท้าวกู่แก้ว จึงได้กราบลาเจ้าเมืองจำปาศักดิ์กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน โดยเดินทางเข้ามาในเขตลำเซบั้งไฟ เพื่อเกลี้ยกล่อมเอาท้าวเพี้ย ชาวลำน้ำเซ กะตากกาปอง เมืองวังเชียงรม ผาบัง คำเกิด คำม่วน พากันไปขัดขวางพระละครคำสิงห์ (ท้าวคำสิงห์) ท้าวกู่แก้วได้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านแก้วเหล็ก ริมห้วยน้ำยมเรียกว่า เมืองมหาชัยกองแก้ว ฝ่ายท้าวคำสิงห์หรือพระละครคำสิงห์ เจ้าเมืองคนใหม่ทราบข่าว จึงแจ้งไปขอกำลังจากกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) แต่ทางเวียงจันทน์ไม่สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องของญาติพี่น้อง พระละครคำสิงห์จึงแต่งกรรมการขึ้นเอา พราย ๒ เชือก, นอ ๒ ยอด, เงิน ๔๐ แผ่น, เดินทางไปขอกำลังจากเจ้าพาพูซุนยวน (เมืองญวน) เจ้าพาพูซุนยวนให้กำลังมา ๖,๐๐๐ คน เคลื่อนพลมาต่อสู้กับพวกลำน้ำเซ โดยมีนายไชยเมืองนครพนมได้อำลาเจ้าพาพูซุนยวนเดินทางก่อน เพื่อเตรียมกองกำลังออกไปสมทบตีขนาบกองทัพกู่แก้วมิให้ทันตั้งตัว ในระหว่างเดือน ๑๒ ถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าพาพูซุนยวนมาถึงเมืองคำเกิด และตั้งทัพอยู่ที่นั่นคอยกองกำลังเมืองนครพนมออกมาสมทบ ข่าวกองทัพเจ้าพาพูซุนยวนล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้ว จึงรีบแต่งเอาเครื่องราชบรรณาการ โดยเอาช้างพลายหนึ่ง นอยอดหนึ่ง ไปพบแม่ทัพญวนที่เมืองคำเกิด แอบอ้างเป็นนายไชยเมืองนครพนม ฝ่ายญวนก็หลงเชื่อจึงมาตีเมืองนครพนม ท้าวกู่แก้วได้เกณฑ์ไพร่พลที่เป็นชายฉกรรจ์ได้ ๓,๐๐๐ คน สมทบกับกองกำลังญวนรวมเป็น ๙,๐๐๐ คนยกมาตีเมืองนครพนมแตก ประวัติศาสตร์ พระละครคำสิงห์ข้ามลำน้ำโขงหนีไปอยู่ดงเซกาข้างตะวันตก แล้วแต่งกรมการเมืองไปขอกำลังจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองเวียงจันทน์เห็นว่า ขืนปล่อยไว้จะเป็นการชักศึกเข้าเมือง จึงได้ให้พระยาเชียงสามาเป็นแม่ทัพมาช่วย โดยตั้งค่ายอยู่ที่บ้านหนองจันทน์ (ใต้เมืองนครพนมปัจจุบัน) อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง (วัดมรุกขนคร) แล้วจัดไพร่พลทั้งสองค่ายกระจายออกเป็นปีกกาโอบเข้าหากัน ฝ่ายทัพญวนที่ตั้งค่ายอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้เอาไม้ไผ่มาจัดทำสะพานเป็นแพลูกบวบ เพื่อจะยกข้ามแม่น้ำโขงมาโจมตีทัพพระยาเชียงสา เมื่อนำไม้ไผ่มามัดเป็นแพลูกบวบ (ไม้ไผ่ที่มัดเป็นแพกลมๆ) ยาวขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง คาดคะเนพอจะไต่ข้ามถึงฝั่งขวาได้ แล้วก็เตรียมทหารลงแพ เมื่อพร้อมแล้วก็ถ่อหัวแพทางเหนือออก ส่วนทางใต้ผูกติดไว้กับฝั่ง พอหัวแพถึงฝั่งขวาแล้วจะใช้สะพานลำเลียงให้ทหารไต่ข้ามโขง ขณะที่ทหารแกวกำลังผลักแพไม้ข้ามโขงอยู่นั้น พระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตัดสะพานแพลูกบวบขาดเป็นท่อนๆ แล้วยกกำลังพลจำนวน ๑๐,๐๐๐ คนเข้าสู้รบกับพวกแกวกลางลำน้ำโขงถึงขั้นตะลุมบอนกัน ทหารญวนที่เสียเปรียบและมีกำลังน้อยกว่า เลยถูกยิง ฟัน แทง ตายตกน้ำเกลื่อนกลาด ในที่สุดก็แตกพ่าย ศพกองทัพญวน(แกว)ที่เสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้ กองทัพถมเป็นกองพะเนินเลยได้ชื่อเรียกกันตั้งแต่บัดนั้นว่า“ดอนแกวกอง” ฝ่ายพระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ หลังจากขับไล่พวกแกวแตกพ่ายไป จึงได้ไกล่เกลี่ยให้ท้าวกู่แก้ว และพระละครคำสิงห์คืนดีกัน โดยเอาครอบครัวพระละครคำสิงห์ขึ้นไปอยู่เวียงจันทน์ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านเวินทราย อยู่ทางทิศใต้ของเวียงจันทน์ มีกำลังผู้คนชายหญิงน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๕๐๐ คน พร้อมกับเกลี้ยกล่อมท้าวกู่แก้วมาเป็นพระบรมราชา ครองเมืองดังเดิม การตั้งถิ่นฐาน ต่อมาพระบรมราชา(กู่แก้ว) ได้ย้ายเมืองข้ามโขงมาอยู่ฝั่งขวามาตั้งที่ปากห้วยบัง ฮวก ครองเมืองได้ 12 ปี จึงพิราลัย พระเจ้าเวียงจันทน์ โปรดให้ท้าวพรหมมา โอรสพระบรมราชา (กู่แก้ว) เป็นพระบรมราชาครองเมือง “มรุกขนคร” สืบแทน และในเวลาต่อมา พระบรมราชา (พรหมมา) จึงได้นำต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการ ไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่กรุงเทพฯ ขอเป็นเมืองขึ้นด้วย เมืองมรุกขนครจึงต้องขึ้นทั้งกรุงเทพฯ และเมืองเวียงจันทน์ ได้ประมาณ 20 ปี น้ำได้กัดเซาะตลิ่งแม่น้ำโขงลงไปมาก ประมาณ พ.ศ. 2329 จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทน์ขึ้นไปและให้ชื่อเมืองว่า “นครพนม” มีท้าวพรหมา ดำรงตำแหน่งเป็นพระบรมราชาครองเมืองนครพนมเป็นคนแรก ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ“พรหมประกาย ณ นครพนม” และ“พรหมสาขา ณ นครพนม” มาจนกระทั่งบัดนี้ ที่มาชื่อตำบล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2430 เดิมทีชาวบ้านท่าค้อตั้งบ้านเรือนอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งขวา ห่างจากตัวเมืองนครพนม ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเจดีย์ศรีโคตรบูรณ์ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางฝั่งซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร บ้านท่าค้อเดิมชื่อว่า “บ้านห้วยน้ำแจ่ว” (น้ำพริก) ห้วยน้ำแจ่วนี้ มีประวัติเล่าขานกันสืบทอดต่อไว้ว่า ในครั้งโบราณมีการต่อสู้เพื่อแย่งหญิงสาวที่หนองญาติ (บ้านหนองญาติ) และทั้งคู่ได้พากันหลบหนีมาทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ก็หลงทางไม่สามารถหาทางออกได้ เดินวกไปเวียนมา บริเวณที่ตรงนั้น เป็นที่ตั้ง “บ้านบุ่งเวียน”ในปัจจุบัน พอออกจากบ้านบุ่งเวียนแล้ว ก็ยังหาทางออกไม่เจออีก ที่ตรงนั้นมีชื่อเรียกว่า “บังกอหลง” ปัจจุบันคือ “ห้วยบังกอ” หลังจากออกบังกอหลงก็เดินทางมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง จะพากันข้ามแม่น้ำโขง ฝ่ายติดตามก็เดินทางมาเจอกัน จึงได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ในการต่อสู้ครั้งนั้น อาวุธที่ใช้ก็คือ “น้ำแจ่ว” (น้ำพริก) ฉีดใส่ซึ่งกันแหละกัน ถ้าทางฝ่ายไหนโดนน้ำแจ่วฉีดเข้าตา มองไม่เห็น และมีอาการปวดแสบ ฝ่ายคู่ต่อสู้ก็จะอาศัยจังหวะนั้นใช้มีดและดาบฟันทันที การสู้รบในครั้งนั้น ได้ใช้น้ำแจ่ว (น้ำพริก) จำนวนมากทำให้น้ำแจ่วไหลลงแม่น้ำโขง จนเป็นห้วย จึงได้ขนานนามว่า “ห้วยน้ำแจ่ว” จนถึงปัจจุบันชาวบ้านห้วยน้ำแจ่ว ส่วนมากเป็นพวกลาวพวน และพวกค้าขายมาจากทางใต้ตั้งแต่เมือง เขมฐราช ลงมา ชาวบ้านดั้งเดิมก็เป็นชาวเมืองมรุกขะนคร มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 30-40 ครัวเรือน ต่อมาปี พ.ศ. 2430 ชาวบ้านห้วยน้ำแจ่ว มีโรคระบาด (โรคห่า) หรืออหิวาห์ตกโรค ทำให้พากันล้มตายเป็นอันมาก จึงพากันอพยพจากบ้านห้วยน้ำแจ่ว ไปทางทิศตะวันตก บางครัวเรือนก็อพยพข้ามห้วยบังกอไป “คำน้ำอ้อม”และหนองแวง มีจำนวน 5 ครัวเรือน บางครัวเรือนก็อพยพไปตั้งอยู่ห้วยบังกอ ปัจจุบันอยู่ตรงกับโรงเรียนบ้านท่าค้อ บ้านใหม่นี้มีชื่อว่า “บ้านนาซู” นอกจากชาวบ้านดั้งเดิมยังมีคนอพยพมาจากถิ่นฐานอื่นด้วยหลายหลังคาเรือน ต่อมามีการแบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน,เป็นตำบล “บ้านนาซู” มีครัวเรือนอยู่ 15 ครัวเรือน ทางราชการสมัยนั้นจึงจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายมา แก้วกิ่ง ตั้งเป็นหมู่ที่ 6 ของบ้านนาซู เป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเกือบทุกปี ชาวบ้านจึงพากันย้ายออกจากบ้านนาซู ไปตั้งถิ่นฐานบ้านใหม่ ในปี พ.ศ.2475 บ้านนาซู จึงเป็นหมู่บ้านร้าง จึงเกิดเป็นหมู่บ้านใหม่เกิดขึ้นว่าบ้านดอนม่วง บางครัวเรือนก็ย้ายจากบ้านห้วยน้ำแจ่วไปทางทิศตะวันตกเหมือนกัน ประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงริมห้วยบังกอด้านทิศตะวันออก ตรงกับปากห้วยฮ่องแซง (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ 4 บ้านท่าค้อใต้ตรงที่ทำการ อบต.ท่าค้อ) ผู้นำชาวบ้านในการอพยพครั้งนี้ คือพ่อเฒ่าจารย์บุดดา ภรรยายชื่อว่ายายจิก (ต้นตระกูลฝ่ายเสน) ซึ่งได้เป็นพ่อตา ของต้นตระกูลท่าค้อในปัจจุบัน ในสมัยแรกที่อพยพมาอยู่ใหม่มีป่าไม้ใหญ่หนาทึบ ทางลงห้วยบังกอ ก็หาทางลงลำบาก มีทางลงทางเดียวคือท่าวัด (วัดโพธิ์ไทร) ในริมบังกอจะมี “ต้นค้อ” (ผลไม้ชนิดหนึ่งมีรสเปรี้ยว) ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง จึงพากันขนานนามบ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าค้อ” โดยเอาสัญลักษณ์ ต้นค้อใหญ่กับทางลงห้วยบังกอ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในด้านการปกครองชาวบ้านได้ถือประเพณีดั่งเดิมถ้าใครหรือผู้ใดในหมู่บ้าน ได้บวชเรียนเขียนอ่านมีความรู้ความสามารถ มีเหตุผล ชาวบ้านก็ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟัง ยกย่องให้เป็นหลักบ้านหรือพ่อบ้านต่อมาทางราชการได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นเป็น มณฑล,จังหวัด,อำเภอ,ตำบล และหมู่บ้านดังนั้นบ้านท่าค้อจึงได้ยกระดับเป็นตำบลเมื่อ พ.ศ. 2453 ให้มีหัวหน้าตำบลเรียกว่า “กำนัน” หัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” กำนันตำบลท่าค้อคนแรกชื่อ พ่อเฒ่านุ่น ในสมัยนั้นตำบลท่าค้อ มีหมู่บ้านอยู่ 10 หมู่บ้าน ดังนี้ 1. บ้านหนองจันทร์เป็นหมู่ที่ 1 2. บ้านเมืองเก่าเป็นหมู่ที่ 2 3. บ้านท่าค้อเหนือเป็นหมู่ที่ 3 4. บ้านท่าค้อใต้เป็นหมู่ที่ 4 (เริ่มจากสี่แยกจดวัดโพธิ์ไทร) 5. บ้านหนองเซาเป็นหมู่ที่ 5 (เริ่มจากวัดโพธิ์ไทรจดบ้านท่าค้อใต้สุด) 6. บ้านโคกไก่เซาเป็นหมู่ที่ 6 7. บ้านบุ่งเวียนเป็นหมู่ที่ 7 8. บ้านนาหลวงเป็นหมู่ที่ 8 9. บ้านนาซู (บ้านดอนม่วงปัจจุบัน) เป็นหมู่ที่ 9 10. บ้านคำพอกเป็นหมู่ที่ 10 (ต.หนองญาติ) หมายเหตุ อ้างอิง บันทึกพงศาวดารเมืองนครพนม ฉบับพระยาโง่นคำ เจริญ ตันมหาพราน บน Facebook เรียบเรียงใหม่ โดย นายวิทนะ กรุงเกตุ นักพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลท่าค้อ วันพุธ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ตรงกับ แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ เวลา 12.04 น
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง







× องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ