messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ camera_alt ภาพกิจกรรม call ข้อมูลการติดต่อ
ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
check_circle ประวัติตำบลท่าค้อ
ประวัติตำบลท่อค้อ
ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เดิมชื่อ “เมืองมรุกขนคร” อยู่ในเขตการปกครองของเมืองเวียงจันทน์ และกรุงเทพมหานครในคราวเดียวกันในสมัยนั้น ประวัติของตำบลท่าค้อ มีอยู่ว่า ปฐมบท ในอดีตก่อนที่จะมาเป็นเมือง “มรุกขนคร” นั้นมีชื่อว่า “เมืองศรีโคตรบูรณ์” เจ้าเมืองชื่อพระบรมราชา (เอวก่าน) มีบุตรชายชื่อว่า ท้าวกู่แก้ว บุตรหญิงชื่อ นางสุวรรณทอง และบุตรเขยชื่อ นายคำสิงห์ (บุตรเพี้ยรามแขก)” ขณะที่ท้าวกู่แก้วมีอายุได้ ๑๕ ปี พระบรมราชาผู้เป็นบิดาส่งไปถวายเป็นมหาดเล็กที่เมืองจำปาศักดิ์ เวลาผ่านไป ๒ ปี พระบรมราชา (เอวก่าน) เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรม ทางเวียงจันทน์จึงได้ตั้งนายคำสิงห์ บุตรเขยเป็นพระบรมราชาครองเมืองแทน ครั้นข่าวล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้วว่า ว่าบิดาถึงแก่กรรม และพี่เขยได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแทน จึงเกิดความไม่พอใจท้าวกู่แก้ว จึงได้กราบลาเจ้าเมืองจำปาศักดิ์กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน โดยเดินทางเข้ามาในเขตลำเซบั้งไฟ เพื่อเกลี้ยกล่อมเอาท้าวเพี้ย ชาวลำน้ำเซ กะตากกาปอง เมืองวังเชียงรม ผาบัง คำเกิด คำม่วน พากันไปขัดขวางพระละครคำสิงห์ (ท้าวคำสิงห์) ท้าวกู่แก้วได้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านแก้วเหล็ก ริมห้วยน้ำยมเรียกว่า เมืองมหาชัยกองแก้ว ฝ่ายท้าวคำสิงห์หรือพระละครคำสิงห์ เจ้าเมืองคนใหม่ทราบข่าว จึงแจ้งไปขอกำลังจากกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) แต่ทางเวียงจันทน์ไม่สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องของญาติพี่น้อง พระละครคำสิงห์จึงแต่งกรรมการขึ้นเอา พราย ๒ เชือก, นอ ๒ ยอด, เงิน ๔๐ แผ่น, เดินทางไปขอกำลังจากเจ้าพาพูซุนยวน (เมืองญวน) เจ้าพาพูซุนยวนให้กำลังมา ๖,๐๐๐ คน เคลื่อนพลมาต่อสู้กับพวกลำน้ำเซ โดยมีนายไชยเมืองนครพนมได้อำลาเจ้าพาพูซุนยวนเดินทางก่อน เพื่อเตรียมกองกำลังออกไปสมทบตีขนาบกองทัพกู่แก้วมิให้ทันตั้งตัว ในระหว่างเดือน ๑๒ ถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าพาพูซุนยวนมาถึงเมืองคำเกิด และตั้งทัพอยู่ที่นั่นคอยกองกำลังเมืองนครพนมออกมาสมทบ ข่าวกองทัพเจ้าพาพูซุนยวนล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้ว จึงรีบแต่งเอาเครื่องราชบรรณาการ โดยเอาช้างพลายหนึ่ง นอยอดหนึ่ง ไปพบแม่ทัพญวนที่เมืองคำเกิด แอบอ้างเป็นนายไชยเมืองนครพนม ฝ่ายญวนก็หลงเชื่อจึงมาตีเมืองนครพนม ท้าวกู่แก้วได้เกณฑ์ไพร่พลที่เป็นชายฉกรรจ์ได้ ๓,๐๐๐ คน สมทบกับกองกำลังญวนรวมเป็น ๙,๐๐๐ คนยกมาตีเมืองนครพนมแตก ประวัติศาสตร์ พระละครคำสิงห์ข้ามลำน้ำโขงหนีไปอยู่ดงเซกาข้างตะวันตก แล้วแต่งกรมการเมืองไปขอกำลังจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองเวียงจันทน์เห็นว่า ขืนปล่อยไว้จะเป็นการชักศึกเข้าเมือง จึงได้ให้พระยาเชียงสามาเป็นแม่ทัพมาช่วย โดยตั้งค่ายอยู่ที่บ้านหนองจันทน์ (ใต้เมืองนครพนมปัจจุบัน) อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง (วัดมรุกขนคร) แล้วจัดไพร่พลทั้งสองค่ายกระจายออกเป็นปีกกาโอบเข้าหากัน ฝ่ายทัพญวนที่ตั้งค่ายอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้เอาไม้ไผ่มาจัดทำสะพานเป็นแพลูกบวบ เพื่อจะยกข้ามแม่น้ำโขงมาโจมตีทัพพระยาเชียงสา เมื่อนำไม้ไผ่มามัดเป็นแพลูกบวบ (ไม้ไผ่ที่มัดเป็นแพกลมๆ) ยาวขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง คาดคะเนพอจะไต่ข้ามถึงฝั่งขวาได้ แล้วก็เตรียมทหารลงแพ เมื่อพร้อมแล้วก็ถ่อหัวแพทางเหนือออก ส่วนทางใต้ผูกติดไว้กับฝั่ง พอหัวแพถึงฝั่งขวาแล้วจะใช้สะพานลำเลียงให้ทหารไต่ข้ามโขง ขณะที่ทหารแกวกำลังผลักแพไม้ข้ามโขงอยู่นั้น พระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตัดสะพานแพลูกบวบขาดเป็นท่อนๆ แล้วยกกำลังพลจำนวน ๑๐,๐๐๐ คนเข้าสู้รบกับพวกแกวกลางลำน้ำโขงถึงขั้นตะลุมบอนกัน ทหารญวนที่เสียเปรียบและมีกำลังน้อยกว่า เลยถูกยิง ฟัน แทง ตายตกน้ำเกลื่อนกลาด ในที่สุดก็แตกพ่าย ศพกองทัพญวน(แกว)ที่เสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้ กองทัพถมเป็นกองพะเนินเลยได้ชื่อเรียกกันตั้งแต่บัดนั้นว่า“ดอนแกวกอง” ฝ่ายพระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ หลังจากขับไล่พวกแกวแตกพ่ายไป จึงได้ไกล่เกลี่ยให้ท้าวกู่แก้ว และพระละครคำสิงห์คืนดีกัน โดยเอาครอบครัวพระละครคำสิงห์ขึ้นไปอยู่เวียงจันทน์ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านเวินทราย อยู่ทางทิศใต้ของเวียงจันทน์ มีกำลังผู้คนชายหญิงน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๕๐๐ คน พร้อมกับเกลี้ยกล่อมท้าวกู่แก้วมาเป็นพระบรมราชา ครองเมืองดังเดิม การตั้งถิ่นฐาน ต่อมาพระบรมราชา(กู่แก้ว) ได้ย้ายเมืองข้ามโขงมาอยู่ฝั่งขวามาตั้งที่ปากห้วยบัง ฮวก ครองเมืองได้ 12 ปี จึงพิราลัย พระเจ้าเวียงจันทน์ โปรดให้ท้าวพรหมมา โอรสพระบรมราชา (กู่แก้ว) เป็นพระบรมราชาครองเมือง “มรุกขนคร” สืบแทน และในเวลาต่อมา พระบรมราชา (พรหมมา) จึงได้นำต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการ ไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่กรุงเทพฯ ขอเป็นเมืองขึ้นด้วย เมืองมรุกขนครจึงต้องขึ้นทั้งกรุงเทพฯ และเมืองเวียงจันทน์ ได้ประมาณ 20 ปี น้ำได้กัดเซาะตลิ่งแม่น้ำโขงลงไปมาก ประมาณ พ.ศ. 2329 จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทน์ขึ้นไปและให้ชื่อเมืองว่า “นครพนม” มีท้าวพรหมา ดำรงตำแหน่งเป็นพระบรมราชาครองเมืองนครพนมเป็นคนแรก ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ“พรหมประกาย ณ นครพนม” และ“พรหมสาขา ณ นครพนม” มาจนกระทั่งบัดนี้ ที่มาชื่อตำบล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2430 เดิมทีชาวบ้านท่าค้อตั้งบ้านเรือนอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งขวา ห่างจากตัวเมืองนครพนม ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเจดีย์ศรีโคตรบูรณ์ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางฝั่งซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร บ้านท่าค้อเดิมชื่อว่า “บ้านห้วยน้ำแจ่ว” (น้ำพริก) ห้วยน้ำแจ่วนี้ มีประวัติเล่าขานกันสืบทอดต่อไว้ว่า ในครั้งโบราณมีการต่อสู้เพื่อแย่งหญิงสาวที่หนองญาติ (บ้านหนองญาติ) และทั้งคู่ได้พากันหลบหนีมาทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ก็หลงทางไม่สามารถหาทางออกได้ เดินวกไปเวียนมา บริเวณที่ตรงนั้น เป็นที่ตั้ง “บ้านบุ่งเวียน”ในปัจจุบัน พอออกจากบ้านบุ่งเวียนแล้ว ก็ยังหาทางออกไม่เจออีก ที่ตรงนั้นมีชื่อเรียกว่า “บังกอหลง” ปัจจุบันคือ “ห้วยบังกอ” หลังจากออกบังกอหลงก็เดินทางมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง จะพากันข้ามแม่น้ำโขง ฝ่ายติดตามก็เดินทางมาเจอกัน จึงได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ในการต่อสู้ครั้งนั้น อาวุธที่ใช้ก็คือ “น้ำแจ่ว” (น้ำพริก) ฉีดใส่ซึ่งกันแหละกัน ถ้าทางฝ่ายไหนโดนน้ำแจ่วฉีดเข้าตา มองไม่เห็น และมีอาการปวดแสบ ฝ่ายคู่ต่อสู้ก็จะอาศัยจังหวะนั้นใช้มีดและดาบฟันทันที การสู้รบในครั้งนั้น ได้ใช้น้ำแจ่ว (น้ำพริก) จำนวนมากทำให้น้ำแจ่วไหลลงแม่น้ำโขง จนเป็นห้วย จึงได้ขนานนามว่า “ห้วยน้ำแจ่ว” จนถึงปัจจุบันชาวบ้านห้วยน้ำแจ่ว ส่วนมากเป็นพวกลาวพวน และพวกค้าขายมาจากทางใต้ตั้งแต่เมือง เขมฐราช ลงมา ชาวบ้านดั้งเดิมก็เป็นชาวเมืองมรุกขะนคร มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 30-40 ครัวเรือน ต่อมาปี พ.ศ. 2430 ชาวบ้านห้วยน้ำแจ่ว มีโรคระบาด (โรคห่า) หรืออหิวาห์ตกโรค ทำให้พากันล้มตายเป็นอันมาก จึงพากันอพยพจากบ้านห้วยน้ำแจ่ว ไปทางทิศตะวันตก บางครัวเรือนก็อพยพข้ามห้วยบังกอไป “คำน้ำอ้อม”และหนองแวง มีจำนวน 5 ครัวเรือน บางครัวเรือนก็อพยพไปตั้งอยู่ห้วยบังกอ ปัจจุบันอยู่ตรงกับโรงเรียนบ้านท่าค้อ บ้านใหม่นี้มีชื่อว่า “บ้านนาซู” นอกจากชาวบ้านดั้งเดิมยังมีคนอพยพมาจากถิ่นฐานอื่นด้วยหลายหลังคาเรือน ต่อมามีการแบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน,เป็นตำบล “บ้านนาซู” มีครัวเรือนอยู่ 15 ครัวเรือน ทางราชการสมัยนั้นจึงจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายมา แก้วกิ่ง ตั้งเป็นหมู่ที่ 6 ของบ้านนาซู เป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมเกือบทุกปี ชาวบ้านจึงพากันย้ายออกจากบ้านนาซู ไปตั้งถิ่นฐานบ้านใหม่ ในปี พ.ศ.2475 บ้านนาซู จึงเป็นหมู่บ้านร้าง จึงเกิดเป็นหมู่บ้านใหม่เกิดขึ้นว่าบ้านดอนม่วง บางครัวเรือนก็ย้ายจากบ้านห้วยน้ำแจ่วไปทางทิศตะวันตกเหมือนกัน ประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงริมห้วยบังกอด้านทิศตะวันออก ตรงกับปากห้วยฮ่องแซง (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ 4 บ้านท่าค้อใต้ตรงที่ทำการ อบต.ท่าค้อ) ผู้นำชาวบ้านในการอพยพครั้งนี้ คือพ่อเฒ่าจารย์บุดดา ภรรยายชื่อว่ายายจิก (ต้นตระกูลฝ่ายเสน) ซึ่งได้เป็นพ่อตา ของต้นตระกูลท่าค้อในปัจจุบัน ในสมัยแรกที่อพยพมาอยู่ใหม่มีป่าไม้ใหญ่หนาทึบ ทางลงห้วยบังกอ ก็หาทางลงลำบาก มีทางลงทางเดียวคือท่าวัด (วัดโพธิ์ไทร) ในริมบังกอจะมี “ต้นค้อ” (ผลไม้ชนิดหนึ่งมีรสเปรี้ยว) ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง จึงพากันขนานนามบ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าค้อ” โดยเอาสัญลักษณ์ ต้นค้อใหญ่กับทางลงห้วยบังกอ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในด้านการปกครองชาวบ้านได้ถือประเพณีดั่งเดิมถ้าใครหรือผู้ใดในหมู่บ้าน ได้บวชเรียนเขียนอ่านมีความรู้ความสามารถ มีเหตุผล ชาวบ้านก็ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟัง ยกย่องให้เป็นหลักบ้านหรือพ่อบ้านต่อมาทางราชการได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นเป็น มณฑล,จังหวัด,อำเภอ,ตำบล และหมู่บ้านดังนั้นบ้านท่าค้อจึงได้ยกระดับเป็นตำบลเมื่อ พ.ศ. 2453 ให้มีหัวหน้าตำบลเรียกว่า “กำนัน” หัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” กำนันตำบลท่าค้อคนแรกชื่อ พ่อเฒ่านุ่น ในสมัยนั้นตำบลท่าค้อ มีหมู่บ้านอยู่ 10 หมู่บ้าน ดังนี้ 1. บ้านหนองจันทร์เป็นหมู่ที่ 1 2. บ้านเมืองเก่าเป็นหมู่ที่ 2 3. บ้านท่าค้อเหนือเป็นหมู่ที่ 3 4. บ้านท่าค้อใต้เป็นหมู่ที่ 4 (เริ่มจากสี่แยกจดวัดโพธิ์ไทร) 5. บ้านหนองเซาเป็นหมู่ที่ 5 (เริ่มจากวัดโพธิ์ไทรจดบ้านท่าค้อใต้สุด) 6. บ้านโคกไก่เซาเป็นหมู่ที่ 6 7. บ้านบุ่งเวียนเป็นหมู่ที่ 7 8. บ้านนาหลวงเป็นหมู่ที่ 8 9. บ้านนาซู (บ้านดอนม่วงปัจจุบัน) เป็นหมู่ที่ 9 10. บ้านคำพอกเป็นหมู่ที่ 10 (ต.หนองญาติ) หมายเหตุ อ้างอิง บันทึกพงศาวดารเมืองนครพนม ฉบับพระยาโง่นคำ เจริญ ตันมหาพราน บน Facebook เรียบเรียงใหม่ โดย นายวิทนะ กรุงเกตุ นักพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลท่าค้อ วันพุธ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ตรงกับ แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ เวลา 12.04 น

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง







info_outline วิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์หน่วยงาน
รอปรับปรุง

check_circle ข้อมูลหน่วยงาน
ข้อมูลทั่วไป
สภาพทั่วไป และข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1. เนื้อที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ มีเนื้อที่โดยประมาณ 50.48 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 30,918 ไร่ 2. จำนวนหมู่บ้าน มีจำนวนหมู่บ้าน 14 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 1 หนองจันทน์ หมู่ที่ 2 เมืองเก่า หมู่ที่ 3 ท่าค้อเหนือ หมู่ที่ 4 ท่าค้อใต้ หมู่ที่ 5 หนองเซา หมู่ที่ 6 โคกไก่เซา หมู่ที่ 7 ดอนม่วง หมู่ที่ 8 นาหลวง หมู่ที่ 9 บุ่งเวียน หมู่ที่ 10 ดงหมู หมู่ที่ 11 ใหม่แสงอรุณ หมู่ที่ 12 นาหลวง หมู่ที่ 13 หนองจันทน์ หมู่ที่ 14 หนองจันทน์ 3. อาณาเขต - ทิศเหนือ จดเขตพื้นที่ เทศบาลเมืองนครพนม - ทิศใต้ จดเขตพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่า - ทิศตะวันออก จดแม่น้ำโขง (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) - ทิศตะวันตก จดเขตพื้นที่ เทศบาลตำบลหนองญาติ 4. สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศของตำบลท่าค้อ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ มีลักษณะลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกของตำบล ลงสู่แม่น้ำโขง พื้นที่ส่วนใหญ่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 160 เมตร 5. สภาพภูมิอากาศ ตำบลท่าค้อ มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ จากสถิติภูมิอากาศของสถานีตรวจอากาศ จังหวัดนครพนม (ปี พ.ศ. 2514-2547) ได้นำมาใช้พิจารณาเป็นตัวแทนลักษณะภูมิอากาศในพื้นที่ตำบลท่าค้อ สรุปได้ดังนี้ (ตารางที่ 2-1 และรูปที่ 2-2) - อุณหภูมิ มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25.9 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน เท่ากับ 34.9 องศาเซลเซียส และต่ำสุดในเดือน ธันวาคม เท่ากับ 15.7 องศาเซลเซียส - ปริมาณน้ำฝน มีปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปี 2,229.5 มิลลิเมตร โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือน สิงหาคม เท่ากับ 538.2 มิลลิเมตร ต่ำสุดในเดือน มกราคม เท่ากับ 3.4 มิลลิเมตร - ความชื้นสัมพัทธ์ มีความชื้นสัมพัทธ์ตลอดปี 75.3 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในเดือนสิงหาคม เท่ากับ 88.0 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุดในเดือน มีนาคม เท่ากับ 65.0 เปอร์เซ็นต์ - การวิเคราะห์ช่วงฤดูเพาะปลูกพืช ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืช โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนรายเดือนเฉลี่ย และค่าศักยภาพการคายระเหยน้ำของพืชรายเดือนเฉลี่ย (Evapotranspiration : ETo) ซึ่งคำนวณโดยใช้โปรแกรม Cropwat for Windows Version 4.3 มากำหนดจุดกราฟลงบนกระดาษ โดยพิจารณาจากระยะเวลาช่วงที่เส้นน้ำฝนอยู่เหนือเส้น 0.5 ETo เป็นหลัก เพื่อหาช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืช ของตำบลท่าค้อ สามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูก จะอยู่ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนตุลาคม และมีความชื้นหลงเหลืออยู่ในดินพอเพียงสำหรับปลูกพืชไร่ พืชผักอายุสั้นหลังจากหมดฤดูฝนประมาณหนึ่งเดือน และอาจใช้แหล่งน้ำในไร่นาช่วยเสริมการเพาะปลูกได้บ้าง แต่ทั้งนี้ควรวางแผนจัดระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 2) ช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนและการกระจายน้อยหรือไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชจะอยู่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี ในช่วงเวลาดังกล่าวถ้าได้รับน้ำชลประทานช่วยก็สามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้ 6. สภาพสังคมและการรวมกลุ่มเกษตรกร สภาพสังคมและการรวมกลุ่มของเกษตรกรตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม ได้จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ เอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน (กรมการปกครอง) รายงานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2551 (กรมการพัฒนาชุมชน) แผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล (สำนักงานเกษตรจังหวัด) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล (องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครพนม) เป็นต้น ได้ผลการศึกษา ดังนี้ 6.1 สภาพทางสังคม ประชากร หมู่บ้านที่อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อเต็มทั้งหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน โดยมีสถิติ ข้อมูลประชากร ปี 2557 จำนวน คน การตั้งถิ่นฐาน ชาวบ้านท่าค้อส่วนมากเป็นพวกลาวพรวน หรือศรีโคตรบูรณ์ และบางส่วนอพยพมาจากเขมราช ซึ่งเดินทางมาค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ เริ่มตั้งถิ่นฐาน เมื่อ พ.ศ. 240 มีชื่อว่าบ้านห้วยน้ำแจ่วอยู่บนสองฝั่งของห้วยบังกอ การตั้งถิ่นฐานได้รวมเอาบ้านคำพอก เหล่าภูมี และบางส่วนของตำบลขามเฒ่าเป็นตำบลท่าค้อ ชื่อท่าค้อ ชาวบ้านแต่เดิมจะมาตักน้ำ หรือจะมาบ้านท่าค้อต้องนั่งเรือข้ามห้วยบังกอ และขึ้นเรือที่ท่าซึ่งมีต้นค้อใหญ่อยู่หนึ่งต้นอยู่ริมฝั่ง (หน้าวัดโพธิ์ไทรปัจจุบัน) จึงเป็นสัญลักษณ์เรียกแทนชื่อบ้าน และจากบ้านห้วยน้ำแจ่วเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นบ้านท่าค้อทุกวันนี้ ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีศูนย์รวมจิตใจเป็นวัด และมีขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร เมื่อมีงานบุญชาวบ้านจะร่วมมือกันเป็นอย่างดี การศึกษา ประชากรส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2549) รายงานผลการสำรวจข้อมูลระดับตำบลพบว่า ประชากรส่วนใหญ่หรือร้อยละ 48.22 ของจำนวนประชากรทั้งหมด จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและไม่ได้ศึกษาต่อ รองลงมาร้อยละ 13.74 และ 3.52 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปริญญาตรีแล้วไม่ได้ศึกษาต่อ ตามลำดับ 6.2 การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาการเกษตร ตำบลท่าค้อ มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ซึ่งได้แก่ [5] กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 6 กลุ่ม 1. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านดอนม่วง 2. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเมืองเก่าพัฒนา 3. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโคกไก่เซา 4. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าค้อ 5. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าค้อร่วมใจ 6.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านดงหมู กลุ่มยุวเกษตรกร 4 กลุ่ม 1. กลุ่มยุวเกษตรกรเมืองเก่าพัฒนา 2. กลุ่มยุวเกษตรกรดอนม่วงสามัคคี 3. กลุ่มยุวเกษตรกรนาหลวงสามัคคี 4. กลุ่มยุวเกษตรกรบ้านใหม่แสงอรุณ นอกจากนี้ยังมีวิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อนำภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้า บริการหรือการอื่นๆ และเพื่อเชื่อมโยงสินค้าในเครือข่าย เป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้น อีกทั้งสามารถจดสิทธิบัตรและขอการรับรองจากส่วนราชการ เช่น อย. และหน่วยงานมาตรฐานสินค้าอื่นๆ ได้ สามารถจำแนกได้ 1 ประเภท ดังต่อไปนี้ ประเภทการผลิตจักสาน คือ กลุ่มแม่บ้านจักสานบ้านดอนม่วง นอกจากนี้ประชากรยังมีการรวมกลุ่ม เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาทำสินค้า OTOP ประจำตำบลท่าค้อ ระดับ 3 ดาว ประเภทเครื่องจักสาน บ้านหนองเซา หมู่ที่ 5 ถนนชยางกูร ตำบลท่าค้อ 7 สภาพเศรษฐกิจ สภาพเศรษฐกิจของตำบลได้จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ เอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับหัวข้อ 2.4 ผลการศึกษาเป็นดังนี้ 7.1 การประกอบอาชีพ สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานการสำรวจข้อมูลตำบลพบว่า มีครัวเรือนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักลำดับแรก คิดเป็นร้อยละ 51.41 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยมีแรงงานภาคเกษตร เฉลี่ย 3 คนต่อครัวเรือน แรงงานนอกภาคเกษตร เฉลี่ย 2 คนต่อครัวเรือน อาชีพรองลงมาเป็นการรับจ้างและค้าขาย และพบว่ามีจำนวนครัวเรือนที่สมาชิกออกไปทำงานนอกจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 12.47 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และไม่มีงานทำเพียงร้อยละ 3.51 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 7.2 การถือครองที่ดิน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2549 อ้างถึงใน เขตการใช้ที่ดิน หน้า 2-6) รายงานว่าจำนวนครัวเรือนเกษตรมีอยู่ร้อยละ 68.95 ของครัวเรือนทั้งตำบล มีการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรเฉลี่ย 11.52 ไร่ต่อครัวเรือน เนื้อที่ทำการเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงประมาณร้อยละ 3.42 ของเนื้อที่ตำบล โดยมีครัวเรือนเกษตรที่ทำกินแบบผสมผสาน หรือจัดการที่ดินตามหลักการทฤษฏีใหม่ 9 ครัวเรือน เนื้อที่รวม 52 ไร่ แผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบลรายงานว่า เกษตรกรจะถือครองพื้นที่ดินทำกินเป็นของตนเองเกือบทั้งหมด โดยมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็น น.ส.3 ก และอื่นๆ ประมาณร้อยละ 10 7.3 การผลิตทางการเกษตร พืช เกษตรกรปลูกพืชทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ระบบการผลิตของเกษตรกร จะเป็นการทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ซึ่งพอสรุปได้เป็น 4 ระบบ ดังนี้ ระบบที่ 1 ทำนาเพียงอย่างเดียว ระบบที่ 2 ทำนา เลี้ยงโค-กระบือ ระบบที่ 3 ทำนา ไร่นาสวนผสม ระบบที่ 4 ทำนา ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์โดยใช้ปัจจัยการผลิตและเงินทุนจากบริษัทมอนซานโต้) ข้าวโพดหวานฝักสด หรือมะเขือเทศ หรือยาสูบ หรือพืชผัก นอกจากนี้เกษตรกรยังปลูกไม้ผลพวก มะม่วง ขนุน ส้มโอ ฝรั่ง โดยได้รับการส่งเสริมจากทางราชการ ปศุสัตว์ ตำบลท่าค้อ มีสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ โค–กระบือ นิยมปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ มีการให้วัคซีนป้องกันโรคระบาดทุกปี พันธุ์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง จำนวนที่เลี้ยงประมาณอย่างละ 3 ตัวต่อครัวเรือน เกษตรกรกำลังดำเนินการรวมกลุ่มและฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงโค–กระบือ ไว้ใช้งานในไร่นา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองนครพนม สถานีพืชอาหารสัตว์ จังหวัดนครพนม และสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์นครพนม กรมปศุสัตว์ นอกจากนี้เกษตรกรจะนิยมเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่พื้นเมือง ไก่ชน และเป็ดเทศ ไว้บริโภคและจำหน่าย เกษตรกรไม่นิยมทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดของสัตว์ปีก ทำให้ไก่เป็นโรคระบาดทุกปี ประมง สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2549) รายงานผลการสำรวจข้อมูลของตำบลพบว่า มีจำนวนครัวเรือนที่ทำประมงน้ำจืด และจำนวนครัวเรือนที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เพื่อจำหน่ายเป็นหลัก 98 ครัวเรือน และ 18 ครัวเรือน ตามลำดับ ขณะเดียวกันมีครัวเรือนที่ทำประมงน้ำจืดและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบริโภค 43 และ 18 ครัวเรือน ตามลำดับ 7.4 ต้นทุนการผลิตและการตลาดทางการเกษตร ข้าว ต้นทุนการผลิต ข้าวไร่ละ 2,090 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าแรงงานปลูก และเก็บเกี่ยว ราคาผลผลิตข้าวเหนียวกิโลกรัมละ 5.50 บาท ข้าวเจ้ากิโลกรัมละ 7 บาท เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตที่เหลือจากเก็บไว้บริโภคให้แก่พ่อค้าท้องถิ่นและพ่อค้าเร่ ซึ่งจะรวบรวมไปจำหน่ายให้กับโรงสีในตัวเมือง ข้าวโพดฝักสด ต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,738 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าแรงงานปลูก ค่าแรงงานเก็บเกี่ยว และค่าเมล็ดพันธุ์ ตามลำดับ ราคาผลผลิตกิโลกรัมละ 6 บาท เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าท้องถิ่น และบางรายจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ยาสูบ ต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,600 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าปุ๋ย ราคาผลผลิตกิโลกรัมละ 40 บาท เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับโรงบ่ม ซึ่งจะส่งต่อไปยังโรงงานยาสูบหรือเอเย่นต์ต่างจังหวัดอีกทีหนึ่ง มะเขือเทศ ต้นทุนการผลิตไร่ละ 700 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าปุ๋ย เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นซึ่งจะรวบรวมไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าปลีก แต่เกษตรกรบางรายจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าเร่ ซึ่งจะนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่างจังหวัดอีกทีหนึ่ง 7.5 การอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนมรายงานว่า พ.ศ. 2548 มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภท 2 และ 3 ตั้งอยู่ในตำบลทั้งสิ้น 18 โรง เงินทุน 134.086 ล้านบาท การจ้างงาน 134 คน จำแนกอุตสาหกรรมตามลักษณะการผลิตได้ 5 ประเภท คือ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ และอุตสาหกรรมบริการ ประเภทอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้างมีจำนวน 8 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 44.44 ของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งตำบล ในจำนวนดังกล่าวนี้ เป็นโรงงานดูดทรายและกรวด 4 โรง โรงขุดหรือลอกกรวดและทราย 3 โรง และโรงงานทำคอนกรีตผสมเสร็จ 1 โรง การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของรัฐนั้น ควรวางหลักการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีลำดับความสามารถของการจ้างงาน (ไม่รวมผู้บริหารและช่างเทคนิค) ต่อเงินทุน 1 แสนบาทมากกว่าการเพิ่มผลผลิต ในที่นี้พบว่าอุตสาหกรรมการเกษตรมีการจ้างงานสูงสุดกล่าวคือ จ้างงานประมาณ 42 คนต่อเงินทุน 1 แสนบาท ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2549) รายงานว่าโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมในพื้นที่ตำบลนั้น เป็นโรงสีข้าวขนาดเล็กที่สีข้าวได้น้อยกว่าวันละ 5 เกวียน จำนวน 15 โรง และยังมีโรงสีข้าวขนาดกลางที่สีข้าวได้วันละ 5-20 เกวียน อีก 3 โรง สำหรับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนทำงานน้อยกว่า 10 คน มีเพียง 2โรง 7.6 รายได้ หนี้สินและแหล่งสินเชื่อ รายได้ แผนพัฒนาการเกษตรรายงานว่า ประชากรของตำบลท่าค้อมีรายได้เฉลี่ย 77,660 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ย 17,500 บาทต่อคนต่อปี สำหรับครัวเรือนเกษตรนั้น มีรายได้จากภาคเกษตร 21,660 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากพืช) และรายได้นอกภาคเกษตร 56,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายจ่ายรวม 37,350 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เป็นรายจ่ายในภาคเกษตรเฉลี่ย 6,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เหลือเป็นรายจ่ายในการครองชีพ ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2549) พบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีต่ำกว่า 10,000 บาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.14 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีระหว่าง 10,000-19,999 บาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 14.09 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ส่วนครัวเรือนที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.84 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด หนี้สิน เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินทั้งกับสถาบันทางการเงินและบุคคลทั่วไป บางรายกู้ยืมเงินจากกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน เงินทุนดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะขาดการจัดการที่ดี แหล่งสินเชื่อ เกษตรใช้บริการสินเชื่อจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรสหกรณ์การเกษตร และจากแหล่งอื่นๆ (เอกชน/นายทุน) อีกส่วนหนึ่ง 7.7 โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ตำบลท่าค้อ มีเส้นทางคมนาคม เป็นถนนคอนกรีตและถนนลาดยางปะปนร้อยละ 33 และเป็นถนนลูกรัง ประมาณร้อยละ 67 สำหรับเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่ผ่านในหมู่บ้านของตำบล มีอยู่ 3 สาย ได้แก่ สายที่ 1 จากนครพนมไปอุบลราชธานี คือ ถนนชยางกูรซึ่งจะผ่านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 10 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4และ สายที่ 2 จากสะพานท่าค้อเชื่อมถนนชยางกูรกับถนนสายนครพนม อำเภอนาแก ที่บ้านเหล่าภูมี ตำบลหนองญาติ โดยจะผ่านหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 12 หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 9 สายที่ 3 จากหมู่ที่ 5 ไปเชื่อมกับสายที่ 2 ที่หมู่ที่ 7 ถนนทั้ง 3 สาย ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของตำบล และของหมู่บ้าน สำหรับใช้สัญจรไปมา และขนถ่ายสินค้าการเกษตรจากหมู่บ้านสู่ตัวเมือง ซึ่งใช้ได้ตลอดฤดูกาล สาธารณูปโภค มีไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ทั้งสิ้นร้อยละ 94.57 ของจำนวนครัวเรือนทั้งตำบล มีระบบน้ำประปาหมู่บ้านใช้ 4 หมู่บ้าน และระบบประปาภูมิภาค 5 หมู่บ้าน อีก 3 หมู่บ้าน ไม่มีน้ำประปาใช้ จำนวนครัวเรือนที่ใช้น้ำอุปโภคและบริโภคจากระบบประปาคิดเป็นร้อยละ 58.82 ของจำนวนครัวเรือนทั้งตำบล อีกร้อยละ 39.04 และ 25.99 จึงยังต้องใช้น้ำจากห้วย/ลำธาร และบ่อบาดาล/บ่อตอก/บ่อเจาะ ตามลำดับ มีโทรศัพท์สาธารณะ 9 แห่ง ด้านการสุขาภิบาล และสุขอนามัยนั้น พบว่า อัตราการมีและใช้ส้วมราดน้ำ ร้อยละ 100 สถานบริการสาธารณะและสถานที่ราชการ โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง สถานีอนามัย 3 แห่ง วัด/สำนักสงฆ์ 19 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน 1 แห่ง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 5 แห่ง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2 แห่ง ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล 1 แห่ง และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล 1 แห่ง 8. หน่วยธุรกิจในเขต อบต. - โรงแรม 3 แห่ง - ปั๊มน้ำมันและก๊าช 3 แห่ง - โรงงานอุตสาหกรรม 1 แห่ง - โรงสี 25 แห่ง 9. การศึกษา - ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 4 แห่ง - โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 3 แห่ง - โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง - โรงเรียนระดับอาชีวศึกษา จำนวน 1 แห่ง 9. ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน5แห่ง(บ้านท่าค้อเหนือ ,บ้านเมืองเก่า , บ้านดงหมู ,บ้านนาหลวง ม.12 ,บ้านโคกไก่เซา) 10. สถาบันและองค์กรทางศาสนา - วัด / สำนักสงฆ์ 19 แห่ง แยกได้ดังนี้ หมู่ที่ 1 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 2 จำนวน 2 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง หมู่ที่ 3 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 4 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 5 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 6 จำนวน 1 แห่ง วัด - แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง หมู่ที่ 7 จำนวน 2 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง หมู่ที่ 8 จำนวน 2 แห่ง วัด - แห่ง สำนักสงฆ์ 2 แห่ง หมู่ที่ 9 จำนวน 1 แห่ง วัด - แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง หมู่ที่ 10 จำนวน 2 แห่ง วัด 2 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 11 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 12 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง หมู่ที่ 13 จำนวน 2 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง หมู่ที่ 14 จำนวน 1 แห่ง วัด 1 แห่ง สำนักสงฆ์ - แห่ง 11.สาธารณสุข - โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองจันทน์ 2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาหลวง 3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าค้อ 12. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน - สถานีตำรวจ - แห่ง - สถานีดับเพลิง - แห่ง -ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) 1 แห่ง -หน่วยกู้ชีพ (EMS) 43 คน -หน่วยกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) 33 คน

รายชื่อสถานศึกษา


check_circle ประวัติดอนแกวกอง
ประวัติดอนแกวกอง
เกาะแห่งความตาย “ดอนแกวกอง” ฟังแค่ชื่อเรื่องก็น่ากลัวไม่น้อยและคิดว่าคงไม่มีใครอยากเข้าไปสัมผัสหรือเที่ยวชมหรอก อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกวันนี้สถานที่นั้นยังคงอยู่เป็นหลักฐานยืนยัน หากใครไปสอบถามชาวนครพนมดู พวกเขาจะให้ความกระจ่างเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเกาะแห่งความตายนี้เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ของจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า“ดอนแกวกอง” บางท่านอาจสงสัยและไม่เข้าใจเกี่ยวกับชื่อเกาะประหลาดแห่งนี้ มันเป็นภาษาอะไรกันแน่ ทำไมเรียกยากเหลือเกิน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจความหมาย ในที่นี้จะขอทำความเข้าใจเสียก่อน คำว่า“ดอนแกวกอง” เป็นคำไทยแท้ๆ โดยแยกแปลตามความหมายของคำออกได้ดังนี้ ดอน น. ที่สูงซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับที่ลุ่ม, ที่เขิน, ที่ห่างน้ำ, เนิน, โคก, โขด, เขิน,(ถิ่นอีสาน) เรียกเกาะในแม่น้ำว่า ดอน, แกว น. คนชาติหนึ่งในเขตตังเกี๋ย หรือประเทศเวียตนาม(ญวน)ในปัจจุบัน กอง น. หมู่, พวก, เหล่า, เช่น กองทัพ, ชุมนุมสิ่งที่รวมสุมกันอยู่เช่นนั้น เช่น กองขยะ, กองฟืน รวมความ “ดอนแกวกอง” หมายถึง โคกเนินที่สะสมของพวกญวน ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับดอนแกวกอง มีบันทึกอยู่ในพงศาวดารเมืองนครพนม ฉบับพระยาจันทร์โง่นคำ มีข้อความดังนี้ “เดิมพระบรมราชาเมืองนครพนม เจ้าเมืองนครพนมมีบุตรชายชื่อว่า ท้าวกู่แก้ว บุตรหญิงชื่อ นางสุวรรณทอง และบุตรเขยชื่อ นายคำสิงห์ (บุตรเพี้ยรามแขก)” ขณะที่ท้าวกู่แก้วมีอายุได้ ๑๕ ปี พระบรมราชาผู้เป็นบิดาส่งไปถวายเป็นมหาดเล็กที่เมืองจำปาศักดิ์ เวลาผ่านไป ๒ ปี พระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมก็ถึงแก่กรรม ทางเวียงจันทน์จึงได้ตั้งนายคำสิงห์ บุตรเขยเป็นพระบรมราชาครองเมืองนครพนมแทน ครั้นข่าวล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้วว่า บิดาถึงแก่กรรมและพี่เขยได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแทน จึงเกิดความไม่พอใจท้าวกู่แก้ว และไปกราบลาเจ้าเมืองจำปาศักดิ์กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน โดยเดินทางเข้ามาในเขตลำเซบั้งไฟ เพื่อเกลี้ยกล่อมเอาท้าวเพี้ย ชาวลำน้ำเซ กะตากกาปอง เมืองวังเชียงรม ผาบัง คำเกิด คำม่วน พากันไปขัดขวางพระละครคำสิงห์(ท้าวคำสิงห์) ท้าวกู่แก้วได้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านแก้วเหล็ก ริมห้วยน้ำยมเรียกว่า เมืองมหาชัยกองแก้ว ฝ่ายท้าวคำสิงห์หรือพระละครคำสิงห์ เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ทราบข่าว จึงแจ้งไปขอกำลังจากกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) แต่ทางเวียงจันทน์ไม่สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องของญาติพี่น้อง พระละครคำสิงห์จึงแต่งกรรมการขึ้นเอาพราย ๒ เชือก, นอ ๒ ยอด, เงิน ๔๐ แผ่น, เดินทางไปขอกำลังจากเจ้าพาพูซุนยวน(เมืองญวน) เจ้าพาพูซุนยวนให้กำลังมา ๖,๐๐๐ คน เคลื่อนพลมาต่อสู้กับพวกลำน้ำเซ โดยมีนายไชยเมืองนครพนมได้อำลาเจ้าพาพูซุนยวนเดินทางก่อน เพื่อเตรียมกองกำลังออกไปสมทบตีขนาบกองทัพกู่แก้วมิให้ทันตั้งตัว ในระหว่างเดือน ๑๒ ถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าพาพูซุนยวนมาถึงเมืองคำเกิด และตั้งทัพอยู่ที่นั่นคอยกองกำลังเมืองนครพนมออกมาสมทบ ข่าวกองทัพเจ้าพาพูซุนยวนล่วงรู้ไปถึงท้าวกู่แก้ว จึงรีบแต่งเอาเครื่องราชบรรณาการ โดยเอาช้างพลายหนึ่ง นอยอดหนึ่ง ไปพบแม่ทัพญวนที่เมืองคำเกิด แอบอ้างเป็นนายไชยเมืองนครพนม ฝ่ายญวนก็หลงเชื่อจึงมาตีเมืองนครพนม ท้าวกู่แก้วได้เกณฑ์ไพร่พลที่เป็นชายฉกรรจ์ได้ ๓,๐๐๐ คน สมทบกับกองกำลังญวนรวมเป็น ๙,๐๐๐ คนยกมาตีเมืองนครพนมแตก พระละครคำสิงห์ข้ามลำน้ำโขงหนีไปอยู่ดงเซกาข้างตะวันตก แล้วแต่งกรมการเมืองไปขอกำลังจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองเวียงจันทน์เห็นว่า ขืนปล่อยไว้จะเป็นการชักศึกเข้าเมือง จึงได้ให้พระยาเชียงสามาเป็นแม่ทัพมาช่วย โดยตั้งค่ายอยู่ที่บ้านหนองจันทน์ (ใต้เมืองนครพนมปัจจุบัน) อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง แล้วจัดไพร่พลทั้งสองค่ายกระจายออกเป็นปีกกาโอบเข้าหากัน ฝ่ายทัพญวนที่ตั้งค่ายอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้เอาไม้ไผ่มาจัดทำสะพานเป็นแพลูกบวบ เพื่อจะยกข้ามแม่น้ำโขงมาโจมตีทัพพระยาเชียงสา เมื่อนำไม้ไผ่มามัดเป็นแพลูกบวบ (ไม้ไผ่ที่มัดเป็นแพกลมๆ) ยาวขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง คาดคะเนพอจะไต่ข้ามถึงฝั่งขวาได้ แล้วก็เตรียมทหารลงแพ เมื่อพร้อมแล้วก็ถ่อหัวแพทางเหนือออก ส่วนทางใต้ผูกติดไว้กับฝั่ง พอหัวแพถึงฝั่งขวาแล้วจะใช้สะพานลำเลียงให้ทหารไต่ข้ามโขง ขณะที่ทหารแกวกำลังผลักแพไม้ข้ามโขงอยู่นั้น พระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตัดสะพานแพลูกบวบขาดเป็นท่อนๆ แล้วยกกำลังพลจำนวน ๑๐,๐๐๐ คนเข้าสู้รบกับพวกแกวกลางลำน้ำโขงถึงขั้นตะลุมบอนกัน ทหารญวนที่เสียเปรียบและมีกำลังน้อยกว่า เลยถูกยิง ฟัน แทง ตายตกน้ำเกลื่อนกลาด ในที่สุดก็แตกพ่าย ศพพวกแกวที่เสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้ กองทัพถมเป็นกองพะเนินเลยได้ชื่อเรียกกันตั้งแต่บัดนั้นว่า“ดอนแกวกอง” ฝ่ายพระยาเชียงสา แม่ทัพเวียงจันทน์ หลังจากขับไล่พวกแกวแตกพ่ายไป จึงได้ไกล่เกลี่ยให้ท้าวกู่แก้ว และพระละครคำสิงห์คืนดีกัน โดยเอาครอบครัวพระละครคำสิงห์ขึ้นไปอยู่เวียงจันทน์ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านเหวินหวาย อยู่ทางทิศใต้ของเวียงจันทน์ มีกำลังผู้คนชายหญิงน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓,๕๐๐ คน พร้อมกับเกลี้ยกล่อมท้าวกู่แก้วมาเป็นพระบรมราชา ครองเมืองนครพนมดังเดิม พระบรมราชา(กู่แก้ว) ได้ย้ายเมืองข้ามโขงมาอยู่ฝั่งขวาตรงปากห้วยบังกอ และมีบุตรชายจำนวน ๘ คน มีนามดังต่อไปนี้ ท้าวอุทธัง, ท้าวพรหมมา, ท้าวศรีวิไช, ท้าวอุ่นเมือง, ท้าวเลาคำ, ท้าวราช, ท้าวแก้วมณีโชติ และท้าวพรหมบุตร ส่วนบุตรหญิงจำนวน ๘ คน มีชื่อเรียกดังนี้ นางแท่นคำ, นางแท่นแก้ว, นางคำเภา, นางมิ่ง, นางต่อม, นางคำพั่ว, นางเยา และนางแมะ พระบรมราชากู่แก้วอยู่ในราชการ ๑๒ ปี ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอ ฉอศก เจ้าพระวอเอากำลังกรุงเทพฯขึ้นมาตีเวียงจันทน์แตก พระบรมราชา(กู่แก้ว) จึงพาครอบครัวไปตั้งค่ายกวนหมู่ได้ ๕ เดือนก็ถึงแก่กรรมที่นั่น ท้าวพรหมาผู้เป็นบุตรคนโตได้ครองเมืองแทน และพาครอบครัวบ่าวไพร่ไปสร้างเมืองใหม่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เริ่มจากบ้านหนองจันทร์ขึ้นไปและให้ชื่อเมืองว่า“นครพนม” มีท้าวพรหมาดำรงตำแหน่งเป็นพระบรมราชาครองเมืองนครพนมเป็นคนแรก ซึ่งเป็นต้นตระกูลของ“พรหมประกาย ณ นครพนม” และ“พรหมสาขา ณ นครพนม” มาจนกระทั่งบัดนี้ ฝ่ายท้าวอุทธังได้เป็นอุปราชและท้าวศรีวิไชเป็นราชวงศ์ เรื่องราวของดอนแกวกองที่กลายเป็นอดีต เหตุการณ์ทำนองเดียวกันได้เกิดขึ้นอีกเป็น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กล่าวคือ... ครั้งมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ ทหารญี่ปุ่นเข้าครอบครองและปลดอาวุธพวกฝรั่งเศสในพื้นที่อินโดจีน อันประกอบด้วยประเทศลาว เขมร และเวียตนาม (แกว) แต่ให้มีเอกราช พอมากลางปีนั้นญี่ปุ่นถูกปรมาณูถล่มที่เกาะฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ จนญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตร และยอมยกกองทัพออกจากพื้นที่อินโดจีนกลับไป แต่ลาว เขมร และเวียตนาม ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสของแต่ก่อน จึงเกิดการสู้รบไปทั่วอินโดจีน สมัยที่ญี่ปุ่นครองอินโดจีนอยู่นั้น รัฐบาลลาวได้ขอร้องให้ญี่ปุ่นช่วยส่งคนญวนกลับคืนสู่ประเทศบ้านเกิดของเขา เพราะต่างก็ได้รับเอกราชแล้ว โดยฝ่ายเวียตนามก็เห็นชอบด้วย พากันอพยพคนญวนจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์หลายหมื่นคน มารวมไว้ที่เมืองท่าแขก(อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม) เพื่อรอเดินทางกลับคืนสู่ประเทศเวียตนาม เพราะมีทางเดินเชื่อมติดต่อไปยังประเทศเวียตนามอยู่ที่เมืองท่าแขก เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามก็ถอยกลับไป โดยยังมิได้จัดการตามที่ลาวขอร้อง แต่ลาวกับญวนก็ยังทำการสู้รบกับฝรั่งเศสกันอยู่ตลอด ในช่วงนี้ฝรั่งเศสอยู่ตามตำบล หมู่บ้านและป่าดง ส่วนคนลาวและคนญวนจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เวียงจันทน์ ท่าแขกและสุวรรณเขต การสู้รบได้ดำเนินอยู่ประมาณ ๑ ปี พอถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ เมื่อท่าแขกก็แตก เพราะฝรั่งเศสได้รุกหนักทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน โดยฝรั่งเศสได้เอาเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดทำลายอย่างหนัก ทหารที่รักษาเมืองท่าแขกเห็นว่าสู้ไม่ไหวแล้ว ก็ปล่อยให้ประชาชนอพยพเข้ามาฝั่งขวา ขณะที่เรืออพยพกำลังลอยอยู่เต็มแม่น้ำโขงนั่นเอง เครื่องบินของฝรั่งเศส ๒ ลำก็บินมาดิ่งหัวลงยิงกราด วกเวียนไปมาอยู่หลายเที่ยว ทำให้เกิดเพลิงไหม้ เรือรั่วจมน้ำมีคนจมน้ำตายนับเป็นจำนวนพันๆคน พวกที่ว่ายน้ำมาถึงฝั่งไทยก็มาก ครั้งนั้นผู้ที่เสียชีวิตศพลอยไปตามกระแสน้ำในลำน้ำโขง ส่วนมากเป็นคนญวนอพยพ น้ำพัดพาไปติดค้างอยู่ที่บริเวณเนินโคกหรือดอนแกวกองอีกเป็นครั้งที่สอง นับเป็นโศกนาฏกรรมน่าประหลาด ที่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในสถานที่และชนชาติเดียวกันถึงสองครั้ง ชาวนครพนมที่มีอายุมากได้เผยถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า ขณะที่เครื่องบินรบของฝรั่งเศสกำลังบินดิ่งหัวลง ยิงกราดเรืออพยพในลำน้ำโขงอย่างวกเวียนไปมาอยู่นั้น ชาวนครพนมได้พากันไปยืนดูอยู่บริเวณริมฝั่งโขงหน้าเมืองนครพนมด้วยความตื่นเต้นและตกใจ เสียงปืนและปลอกกระสุนได้ปลิวข้ามมาตกยังฝั่งไทย ถูกบ้านเรือนคนไทยเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับอันตราย เจ้าหน้าทางราชการได้นั่งรถยนต์ออกประกาศให้ประชาชนหลบวิถีกระสุนอย่าไปยืนดู เกรงว่าอาจจะเกิดอันตราย แต่ก็ไม่มีใครยอมฟังเสียง พอรถเจ้าหน้าที่ผ่านไปก็พากันออกไปดูอีก ถึงแม้จะเสี่ยงอันตรายก็ยอม ด้วยเหตุการณ์อย่างนี้หาดูยาก ปัจจุบันดอนแกวกองยังเป็นเกาะเล็กๆอยู่ในแม่น้ำโขงค่อนมาทางฝั่งไทย ตั้งอยู่ในเขตท้องที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมลงไปทางทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับเทศบาลเมืองนครพนม ตรงบริเวณหัวดอนแกวกองได้มีหาดทรายงอกยาวขึ้นมาทางทิศเหนือ จนจดท้ายเมืองนครพนมยาวออกไปทางชายฝั่งน้ำโขงโดยตลอด ชาวเมืองนครพนมนิยมเรียกว่าหาดแกวกองบ้าง หาดหนองจันทร์บ้าง เพราะเริ่มต้นมาจากบ้านหนองจันทร์

ท้าวเชียงสา



check_circle สถานที่ท่องเที่ยว

× องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ